ใีนชีวิตของเราแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา นักบวช หรือผู้ปฏิบัติธรรมทั่่วไป ต่างก็มีความโกรธด้วยกันทั้งสิ้น ความแตกต่างอยู่ที่เราโกรธสิ่งใด หรืออะไรทำให้เราโกรธ ความถี่ของความโกรธ และการเข้าใจสภาวะความโกรธนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงมักไม่ค่อยโกรธ แม้หน้าตาจะไม่ยิ้มแย้มตลอดเวลา แต่ผู้อยู่ใกล้ชิดสามารถสัมผัสถึงความอ่อนโยนและอารมณ์อันคงที่ บางคนสัมผัสได้ถึงสภาวะอันเป็นธรรมชาติ ดุจดังศูนยตาในความไพศาล
หากผู้ปฏิบัติธรรมเหล่านั้นจะโกรธ ความโกรธก็มักจะเป็นเรื่องความเลวร้ายหรืออธรรม มากกว่าจะเป็นการถูกกระทบด้วยอารมณ์ชั่ววูบ พุทธทิเบตสอนว่า หากเรามีความโกรธ เราสามารถจะระบายความโกรธออกมาได้ เราไม่ควรระงับความโกรธนั้น เพียงแต่เราต้องรู้ตัวว่ากำลังโกรธอยู่ นั่นคือ เราเข้าใจสภาวะความโกรธนั้นและพยายามแปรเปลี่ยนความโกรธให้เป็นความเมตตา ในตอนต้น การเปลี่ยนอาจเป็นเรื่องยากและดูจะเป็นเรื่องเสแสร้ง แต่เมื่อฝึกบ่อยๆ ก็เกิดขึ้นได้และจะกลายเป็นส่ิงที่เป็นธรรมชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า แม้เหล็กก็สามารถบิดได้
ในการทำงาน หากจะโกรธ ก็จงโกรธเถิด แต่อย่าปล่อยให้ความโกรธเกาะกินใจจนเป็นนิสัย เมื่อโกรธ พยายามเปลี่ยนความโกรธนั้น เป็นอารมณ์ทางบวก ถ้าทำไม่ได้โดยทันที ก็ทำหลังจากที่ความโกรธสิ้นสุด เมื่อจิตอยู่ในสภาวะปกติ แต่ถ้าเราโกรธ แล้วไม่พิจารณาอารมณ์ ไม่พยายามจะแปรเปลี่ยนอารมณ์นั้น เราอาจจะตกอยู่ในกับดักของอารมณ์บ่อนทำลาย กลายเป็นคนช่างโกรธ หงุดหงิดง่าย ทำให้ตัวเองไม่มีความสุข
ข้อสำคัญ เมื่อโกรธ จงอย่าโกรธตัวเอง ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการไม่รักตัวเอง การมองเห็นว่าตัวเองไม่มีคุณค่า
Wednesday, September 5, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment