Thursday, August 9, 2007

ลมหายใจศรัทธา

ในวันที่ 1-18 พฤษภาคม 2550 ดิฉันได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิต คือ การจาริกแสวงบุญในทิเบตด้วยการ เดิน กราบ แม้ว่าเวลา 18 วันจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า เป็นการเดินตามรอยศรัทธาของผู้จาริกแสวงบุญชาวทิเบตนับจำนวนไม่ถ้วน

ตัวอย่าง video script เกี่ยวกับการจาริกแสวงบุญและประวัติการทำงานของดิฉัน ดูได้จาก http://www.thairealtv.com/video/week/07jul26/player.php?vid=6&wid=40707



ลมหายใจศรัทธา ทิเบต - 11/8/2550 ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ www.siamrath.co.th

ลมหายใจศรัทธา ทิเบต

ทิเบต ได้รับการกล่าวขานจากนักเดินทางทุกมุมโลก ถึงความสวยงามของเทือกเขาสลับซับซ้อน เรียงรายเหนือระดับน้ำทะเลหลายพันเมตร ตัดกับวิวท้องฟ้าสีฟ้าเจิดจรัส อันนอกเหนือเรื่องราวของวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ อารยธรรม รวมไปถึงความเป็นดินแดนปฏิบัติธรรม ตามปรัชญาเอเชียตะวันออก

ผู้หญิงไทยร่างเล็กๆ คนหนึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโอกาสไปสัมผัสชาวทิเบต กับความศรัทธาศาสนาพุทธนิกายวัชรยานของชาวทิเบต และผู้คนแห่งโพ้นทะเล ที่ดั้นด้นไปแสวงหากลิ่นรสพระธรรม แม้แต่ตัวเธอก็เช่นกัน และเก็บความประทับใจมาถ่ายทอด

ในทิเบต ชีวิตที่นี่กับเมืองไทยต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศ และความสูง ทำให้การชีวิตในทิเบตเป็นเรื่องยาก เพราะชีวิตในเมืองไทยสุขสบายเกินไป ทำให้ขาดภูมิคุ้มกันความหนาว ความหิว และความทรหดทั้งหลาย แต่ทุกครั้งหัวใจของฉันออกเดินทาง ทุกอย่างต้องเตรียมตัวเตรียมใจเสมอ

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของฉันเดินทางมาทิเบต และทุกครั้งที่มาดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของทิเบตและฤดูกาลใด จะพบเห็นผู้จาริกแสวงบุญ เดินทางไปบนถนนเป็นกลุ่มๆ

บ้างไปเป็นครอบครัว บ้างไปกับเพื่อน และเดินทางไปคนเดียว การเดินทางของพวกเขา เป็นการเดินด้วยเท้าบนเส้นทางแห่งจิตวิญญาณ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นน้ำอมฤตหล่อเลี้ยงชีวิต และสมบัติติดตัวไปกับรถรุน บรรทุกที่นอน หม้อต้มน้ำชา อาหาร และของใช้ส่วนตัวอีกเล็กน้อย

มีบ้างที่ผู้จาริกแสวงบุญบางกลุ่มขี่ม้าไป บางกลุ่มไปทางรถบรรทุกสิบล้อ ที่ขนธงมนตร์ จำนวนนับร้อยผืนติดไปด้วย แสวงบุญไปที่ต่างๆ อันห่างไกล และเมื่อใดทั้งรถและม้าควบผ่านไป กองฝุ่นตลบอบอวลคละเคล้า กับร่องรอยเสียงมนต์ที่พวกเขาเพิ่งสวด นี่คือ ฝุ่นแห่งความเบิกบาน ความปิติยินดีที่ได้ทำบุญใหญ่ร่วมกัน

จุดมุ่งหมายของการเดินทางด้วยเท้า และรถรุนเที่ยวนี้ของฉัน (พฤษภาคม ที่ผ่านมา) เพื่อเดินทางไปกราบอัษฎางคประดิษฐ์ แม้ว่าระยะทาง 80 กิโลเมตรเศษ เดินกราบภายใน 18 วัน จากเมืองเนทังไปซัมเย่ จะไม่ใช่ระยะทางไกลมากนัก แต่เส้นทางที่เดินกราบบนถนนในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ สอนฉันให้เห็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะชาวทิเบต แต่ละก้าวที่เดินคือสัญญาต่อพระพุทธเจ้า จะขอยึดพระองค์เป็นที่พึ่งจนถึงการตรัสรู้

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบัน ฉันใช้ชีวิตท่องไปกับการจากริกแสวงบุญในทิเบต ฉันได้สัมผัสความศรัทธาพุทธศาสนาของชาวทิเบต ตามท้องถนนในหลายเมือง ทั้งในแคว้นคามด้านตะวันออก ฉันแวะกราบพระที่วิหารพระแม่ตารา ในวัดนาโมซื่อ เมืองคังดิง (ภาษาทิเบต เรียก ต้าเซโด) เมืองท่าที่เชื่อมวัฒนธรรมจีน กับวัฒนธรรมทิเบตตะวันออกไว้ด้วยกัน

แวะพักบ้าน “พ่อ” ผู้ใหญ่บ้านโกลกทก ในเมืองรางาคา (ภาษาจีน เรียก ชินดูเฉียว) ได้รู้จักกันมาก่อน ซึ่งแกเป็นผู้ที่บูชาพระแม่ตาราเป็นหลัก ศรัทธาของแกมีมากล้น ขนาดชักชวนลูกบ้านให้สวดมนตร์ใหญ่ทุกปี โดยเน้นการสวดสรรเสริญพระแม่ตารา 21 องค์ 10 ล้านจบ ภายใน 1 สัปดาห์ และแกเองทำอย่างนี้อยู่ 21 ปี สามารถสร้างวิหารพระแม่ตาราได้สำเร็จ

ผลจากความศรัทธา เป็นบ่อเกิดน้ำพักน้ำแรงของผู้มีศรัทธาในพระองค์อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นเพียงชาวบ้านทิเบตธรรมดา ไม่มีเงินทองมากมาย แต่พวกเขาสามารถสร้างวิหารที่งดงาม เต็มไปด้วยพระพุทธรูปจำนวนมาก พ่อผู้ใหญ่บอกกับฉันว่า “องค์พระประธาน ซึ่งเป็นพระอวโลกิเตศวรพันเนตรพันกร ลูกสาวคนโตเป็นผู้สร้าง โดยใช้เงินจากการเปิดร้านน้ำชาขายที่เมืองคังดิง”

ที่ลาซา เนทัง และเมืองซัมเย่ ผู้จาริกแสวงบุญบางคนมิเพียงแต่เดินเท้า แต่ยังกราบอัษฎางคประดิษฐ์ไปตลอดทาง หน้าตาของพวกเขามอมแมม ผ้าเอี๊ยมคลุกฝุ่น จนไม่รู้ว่าสีเดิมเป็นสีอะไร และมือของพวกเขามีแผ่นไม้รองไม่ให้เป็นแผล เมื่อฝ่ามือครูดไปกับถนน ที่หัวเข่ามีแผ่นผ้าหนารองไว้

เสียงแผ่นไม้ รองเท้า ลำตัว และหน้าผาก ครูดไปกับถนน เพื่อเตือนให้โลกรู้ว่า มีหนึ่งชีวิตที่ยังโหยหาคำสอนของพระพุทธองค์ และเมื่อจิตแนบกาย กายสัมผัสดิน มิมีสิ่งใดมีค่ามากไปกว่าจุดหมายปลายทางสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องกราบไปให้ถึง

จิตของผู้จาริกแสวงบุญยิ่งใหญ่ ชาวทิเบตสอนฉันให้กล้าหาญ กล้าที่จะรับความยากลำบาก ที่ทุกคนต้องเผชิญบนเส้นทางแห่งการจาริกแสวงบุญ กล้าที่จะเป็นอนาคาริก ใช้ชีวิตอยู่บนผืนดิน กินอาหารตามยถากรรม ใช้พลังความเป็นมนุษย์เปลี่ยนตัวเอง และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น

ชาวทิเบต สอนฉันให้รู้จักความหมายที่แท้จริงของการอดทน และคุณค่าของความเหนื่อยยาก เหงื่อแต่ละหยด คือ พรของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ความเมื่อยขบ คือ เพื่อนร่วมเดินทาง

กลางปีที่แล้ว ฉันได้ตาม พระอาจารย์ฑากินีปัลเดน เซอโซ จากเมืองซาซูคาถิ่นคาม ไปจาริกแสวงบุญที่ถ้ำปฏิบัติธรรมของ คุรุ ริมโปเซ (พระคุรุปัทมสมภพ) ที่เมืองนักซู เขตชนเผ่าเร่ร่อนในทิเบตตอนเหนือ การเดินทางครั้งนั้น เป็นการเดินทางรถยนต์ บางช่วงเราต้องเดินเท้าและขี่ม้า บางช่วงต้องฝ่ากองหิมะ และเผชิญกับความหนาวเย็น แต่ความยากลำบากเปรียบเทียบไม่ได้กับของผู้จาริกแสวงบุญ ด้วยการเดินกราบที่เราพบระหว่างทาง

ฉันมองเห็นหน้าตาของผู้จาริกแสวงบุญ สดใส หัวใจอิ่มเอิบด้วยศรัทธา แม้ตาจะแดงก่ำด้วยแสงแดดและหิมะ ฉันโผเข้าสวมกอดพวกเขา ด้วยความรู้สึกขอบคุณ ด้วยความรักในเพื่อนมนุษย์ ด้วยศรัทธา และความภาคภูมิใจในตัวพวกเขา

เวลานั้น ฉันแอบหวังลึกๆ ว่า วันหนึ่งในไม่ช้า ฉันจะเดินตามรอยพวกเขา ตามรอยผู้ปฏิบัติธรรมชาวทิเบตจำนวนนับไม่ถ้วน ที่ได้เคยเดินทางบนเส้นทางแห่งการกราบนี้

แน่ล่ะ อาจมีคำถามว่า ในโลกสมัยใหม่ที่ถนนเกือบทุกสายราดคอนกรีต การจาริกแสวงบุญด้วยเท้ายังมีคุณค่าอีกหรือ?

ทำไมคนๆ หนึ่ง เรียนจบการศึกษาสูงจากเมืองนอก ทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของเมืองไทยและนานาชาติ ถึงอยากจะทำตัวเป็นเหมือนชาวทิเบตไร้การศึกษา

คำตอบคือ ความเชื่อมิได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา หรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความเชื่อมิได้ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา การจาริกแสวงบุญด้วยเท้า มิใช่การทำร้ายตัวเอง มิใช่การปฏิบัติธรรมขั้นพื้นฐานของผู้ไร้การศึกษาที่มีศรัทธาเป็นตัวนำ

การเดินเท้า สอนให้เรารู้จักถ่อมตน ยิ่งเราสูงมากเท่าไร เราก็ยิ่งต้องถ่อมตัวให้ต่ำลงเท่านั้น การจาริกแสวงบุญให้โอกาสเราได้ใช้ชีวิตอย่างแนบแน่นกับธรรมชาติ สอนให้เราเคารพความยากลำบาก ผสานกับตั้งจิตถึงพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ การสวดจตุรัตนคมน์ และการภาวนาเพื่อสรรพชีวิต การเดินเท้าได้กลายมาเป็นปฏิบัติธรรมขั้นสูง ที่เปลี่ยนจิตเย่อยิ่ง ให้กลายเป็นจิตอ่อนน้อมและอ่อนโยน

การเดินทางไปทิเบตของฉันเที่ยวนี้ ยังมีเพื่อนร่วมทางคนไทย และเยินเต็น เพื่อนทิเบตที่คอยรุนสัมภาระ ปลูกกระโจมให้อยู่ ทำอาหารให้กิน และเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด ทุกจีเช่!!

No comments: